เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ถูกกำหนดเป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือกับองค์กรหลักต่าง ๆ เพื่อเตรียมการ วางแผน พัฒนา เตรียมความพร้อมให้แก่ครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชน เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 โดยกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการ 5 ปี (พ.ศ. 2554-2558) ภายใต้กรอบ 3 เสาหลัก กับ 5 นโยบาย
จากปฏิญญา ชะอำ-หัวหิน ด้านการศึกษาฯ ต่อการขับเคลื่อนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สาระสำคัญของปฏิญญาดังกล่าวเน้นความสำคัญของบทบาทการศึกษาในการสร้างประชาคมอาเซียน 3 เสาหลัก ดังนี้
- บทบาทการศึกษาในเสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง : การสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของกฎบัตรอาเซียน การส่งเสริมหลักการประชาธิปไตย การส่งเสริมการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน ตระหนักคุณค่าและค่านิยมทางวัฒนธรรม การสร้างเครือข่ายผู้บริหารโรงเรียนเพื่อบูรณาการความร่วมมือด้านการศึกษา การจัดงานฉลองวันอาเซียนในประเทศสมาชิก ในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นวันก่อตั้งอาเซียน
- บทบาทการศึกษาในเสาหลักด้านเศรษฐกิจ : การจัดทำกรอบการพัฒนาทักษะในอาเซียน การพัฒนาระบบการถ่ายโอนนักเรียน การถ่ายโอนแรงงานที่มีความชำนาญการในภูมิภาค การพัฒนามาตรฐานอาชีพที่เน้นศักยภาพในอาเซียน ที่สามารถสนองตอบความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
- บทบาทการศึกษาในเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม : การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพในชุมชนชนบท การจัดหลักสูตรระดับปริญญาตรีเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมอาเซียน การสนับสนุนการเรียนภาษาอาเซียน การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอาเซียนในเยาวชน การพัฒนาด้านการวิจัยและการพัฒนาในภูมิภาค การสร้างความรู้และตระหนักเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอด ชีวิต เพื่อบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน การจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับอาเซียนร่วมกัน ตลอดจนการร่วมแบ่งปันทรัพยากรและจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาการศึกษาในภูมิภาค
รัฐบาลไทยได้จัดสรรงบประมาณ 3,000 ล้านบาท (ปี 2552-2557) สำหรับแผนดำเนินการระยะ 5 ปี เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน โดยมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2557 จะต้องมีนักเรียน นักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 1 แสนคน ด้วยการพัฒนาสถานศึกษาทุกระดับการศึกษาและจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ
โดยที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาของประเทศ จึงมีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาเพื่อให้บรรลุการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558 ตามกฎบัตรอาเซียน และการดำเนินงานตามปฏิญญา ชะอำ-หัวหิน ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทร และแบ่งปันให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการศึกษาในอาเซียนสู่การบรรลุเป้าหมาย การจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 ขึ้น 1 คณะ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธาน และผู้บริหารองค์กรหลักร่วมเป็นกรรมการ มีหน้าที่กำหนดนโยบายการดำเนินโครงการและกิจกรรมด้านการศึกษา กำกัลป์ ติดตาม ประเมินผล และให้ข้อคิดเห็นเพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการศึกษาในอาเซียนขององค์กรหลัก สถาบัน และหน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม
ในการประชุมคณะกรรมการระดับชาติฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 ได้เห็นชอบนโยบายการศึกษาของไทยเพื่อดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียนด้านการศึกษา ดังนี้
- นโยบายที่ 1 : การเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และเจตคติที่ดีเกี่ยวกับอาเซียน เพื่อสร้างความตระหนัก และเตรียมความพร้อมของครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชน เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558
- นโยบายที่ 2 : การพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนให้มีทักษะที่เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เช่น ความรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน เทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะและความชำนาญการ ที่สอดคล้องกับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม และการเพิ่มโอกาสในการหางานทำของประชาชน รวมทั้งการพิจารณาแผนผลิตกำลังคน
- นโยบายที่ 3 : การพัฒนามาตรฐานการศึกษา เพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนของนักศึกษา และครูอาจารย์ในอาเซียน รวมทั้งเพื่อให้มีการยอมรับในคุณสมบัติทางวิชาการร่วมกันในอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และการแลกเปลี่ยนเยาวชน การพัฒนาระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งช่วยสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิต การส่งเสริมและปรับปรุงการศึกษาด้านอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมทางอาชีพในขั้นต้น และขั้นต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมและเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน
- นโยบายที่ 4 : การเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดเสรีการศึกษาในอาเซียน เพื่อรองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบด้วย การจัดทำความตกลงยอมรับร่วมด้านการศึกษา การพัฒนาความสามารถ ประสบการณ์ ในสาขาวิชาวิชาชีพสำคัญต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปิดเสรีการศึกษา ควบคู่กับการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน
- นโยบายที่ 5 : การพัฒนาเยาวชนเพื่อเป็นทรัพยากรสำคัญในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน สำหรับโครงการ และภารกิจสำคัญที่องค์กรหลักต่าง ๆ ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาทุกระดับ ทั้งในระบบ การศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาตลอดชีวิต โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ การพัฒนาศักยภาพประชาชนคนไทยให้เข้าสู่การสร้างประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558
“ คนไทยภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีมิตรไมตรีบนวิถีชีวิตแห่งความพอเพียง ยึดมั่นในวัฒนธรรมประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาล การบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึง มีคุณภาพ สังคมมีความปลอดภัยและมั่นคง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี เกื้อกูลและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ระบบการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน อยู่บนฐานทางเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองและแข่งขันได้ในเวทีโลก สามารถอยู่ในประชาคมภูมิภาคและโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี ”
การจัดการศึกษาของไทยเป็นมาตรการรับรองสำคัญต่อเป้าหมายการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งครอบคลุมการจัดทำความตกลงความร่วมมือด้านการศึกษา ความสามารถ ประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพสำคัญต่าง ๆ ควบคู่กับการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งกำหนดให้มีการยกเว้นข้อกำหนดเกี่ยวกับการขอวีซ่าสำหรับคนชาติอาเซียนสำหรับ short term visits การอำนวยความสะดวก
การออกวิซ่า และใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานมีฝีมือ และผู้เชี่ยวชาญสัญชาติอาเซียน ซึ่งจะช่วยลดสิ่งกีดกั้นและอุปสรรคการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชน และส่งเสริมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานหลักในการดำเนินการเพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ประเทศไทยจำเป็นต้องผนึกความร่วมมือทุกภาคส่วนของสังคมในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของชาติ และผนึกความร่วมมือในการจัดการศึกษากับอาเซียน เพื่อสร้างอาเซียนให้เป็นประชาคมที่มั่นคง เอื้ออาทร และร่วมแบ่งปันกันตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2558
***แหล่งอ้างอิง :
- จุไรรัตน์ แสงบุญนำ. ความรู้เรื่องประชาคมอาเซียน (การเตรียมความพร้อมของไทยเพื่อการก้าวเข้าสู่ ประชาคมอาเซียน) ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2554-2558) เอกสารอัดสำเนา, 2554.
- ความเป็นมาของอาเซียน. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaimaster.info/pompilai/wannisa/asean/ asean_info.html#end สืบค้น 5 มิถุนายน 2554.
- สืบค้นและรวบรวมโดย : สำเภา สมบูรณ์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษา สำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 9
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น