หน้าเว็บ

วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้






อารัมภบท เราบรรดาประชาชนของรัฐสมาชิกของสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยมีประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของบรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นผู้แทนรับทราบด้วยความพึงพอใจในความสำเร็จอย่างสูงและการขยายตัวของอาเซียนนับตั้งแต่มีการก่อตั้งขึ้นที่กรุงเทพมหานครด้วยการประกาศใช้ปฏิญญาอาเซียน โดยระลึกถึงการตัดสินใจจัดทำกฎบัตรอาเซียน ตามแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดทำกฎบัตรอาเซียน และปฏิญญาเซบูว่าด้วยแผนแม่บทของกฎบัตรอาเซียน ตระหนักถึงการมีผลประโยชน์ร่วมกันและการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างประชาชนและรัฐสมาชิกอาเซียนซึ่งมีความผูกพันกันทางภูมิศาสตร์ ตลอดจนมีวัตถุประสงค์และชะตาร่วมกัน ได้รับแรงบันดาลใจและรวมกันภายใต้วิสัยทัศน์เดียวกัน อัตลักษณ์เดียวกัน และประชาคมที่มีความเอื้ออาทรเดียวกัน รวมกันด้วยความปรารถนาและเจตจำนงร่วมกันที่จะดำรงอยู่ในภูมิภาคแห่งสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพที่ถาวร มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีความมั่งคั่งและความก้าวหน้าทางสังคมร่วมกัน และที่จะส่งเสริมผลประโยชน์ อุดมการณ์ และแรงดลใจที่สำคัญของอาเซียน เคารพความสำคัญพื้นฐานของมิตรภาพและความร่วมมือ และหลักการแห่งอธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน การไม่แทรกแซงในกิจการภายใน ฉันทามติและเอกภาพในความหลากหลาย ยึดมั่นในหลักการแห่งประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และธรรมาภิบาล การเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตกลงใจที่จะประกันการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของประชาชนรุ่นปัจจุบันและอนาคต และตั้งมั่นให้ ความอยู่ดีกินดี การดำรงชีวิตและสวัสดิการของประชาชนเป็นแกนของกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน เชื่อมั่นในความจำเป็นที่จะกระชับสายสัมพันธ์ที่มีอยู่ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับภูมิภาค เพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนที่มีความเหนียวแน่นทางการเมือง การรวมตัวทางเศรษฐกิจ และมีความรับผิดชอบทางสังคม เพื่อที่จะตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อความท้าทายและโอกาสในปัจจุบันและอนาคต ผูกพันที่จะเร่งสร้างประชาคมโดยผ่านความร่วมมือ และการรวมตัวในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ตามที่ระบุไว้ในปฏิญญาบาหลีว่าด้วยข้อตกลงอาเซียนฉบับที่ 2



ในการนี้ จึงตกลงใจที่จะจัดทำกรอบทางกฎหมายและทางสถาบันของอาเซียนโดยกฎบัตรนี้ และเพื่อการนี้ ประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมาประชุมกันที่สิงคโปร์ ในวาระประวัติศาสตร์ครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งอาเซียน ได้เห็นชอบกับกฎบัตรอาเซียนนี้


หมวดที่ 1
วัตถุประสงค์และหลักการ
ข้อ 1: วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์ของอาเซียนคือ
  1. เพื่อธำรงรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพ กับทั้งเสริมสร้างคุณค่าทางสันติภาพในภูมิภาคให้มากขึ้น
  2. เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวสู่สภาวะปกติของภูมิภาคโดยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
  3. เพื่อธำรงรักษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์และปราศจากอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอื่นๆ ทุกชนิด
  4. เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนและรัฐสมาชิกของอาเซียนอยู่ร่วมกับประชาคมโลกได้โดยสันติในสภาวะที่เป็นธรรม มีประชาธิปไตยและมีความสมานสามัคคี
  5. เพื่อสร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวที่มีเสถียรภาพ ความมั่งคั่ง มีความสามารถในการแข่งขันสูง และมีการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจซึ่งมีการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของสินค้า บริการ และการลงทุน การเคลื่อนย้ายที่ได้รับความสะดวกของนักธุรกิจ ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้มีความสามารถพิเศษและแรงงาน และการเคลื่อนย้ายอย่างเสรียิ่งขึ้นของเงินทุน
  6. เพื่อบรรเทาความยากจนและลดช่องว่างการพัฒนาในอาเซียนผ่านความช่วยเหลือซึ่งกันและกันและความร่วมมือ
  7. เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตย เพิ่มพูนธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม ตลอดจนส่งเสริมและคุ้มครอง สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของรัฐสมาชิกของอาเซียน
  8. เพื่อเผชิญหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติ ต่อสิ่งท้าทายทุกรูปแบบ อาชญากรรมข้ามชาติ และสิ่งท้าทายข้ามพรมแดนอื่นๆ
  9. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อทำให้แน่ใจว่ามีการคุ้มครองสภาพแวดล้อมในภูมิภาค ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาค การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาค และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในภูมิภาค
  10. เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยผ่านความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างพลังประชาชนและเสริมสร้างความเข้มแข็งแห่งประชาคมอาเซียน
  11. เพื่อเพิ่มพูนความอยู่ดีกินดีและการดำรงชีวิตของประชาชนอาเซียนด้วยการให้ประชาชนมีโอกาสที่ทัดเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม และความยุติธรรม
  12. เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มั่นคง และปราศจากยาเสพติด สำหรับประชาชนของอาเซียน
  13. เพื่อส่งเสริมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทุกภาคส่วนของสังคมได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์จากกระบวนการรวมตัวและการสร้างประชาคมของอาเซียน
  14. เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียนด้วยการส่งเสริมความสำนึกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมรดกของภูมิภาคยิ่งขึ้น และ
  15. เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์รวมและบทบาทเชิงรุกของอาเซียนในฐานะพลังขับเคลื่อนขั้นแรกของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค ในภาพแบบของภูมิภาคที่ เปิดกว้าง โปร่งใส และไม่ปิดกั้น
ข้อ 2: หลักการ
  1. ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อ 1 อาเซียนและรัฐสมาชิกอาเซียนยืนยันและยึดมั่นในหลักการพื้นฐานที่ปรากฏในปฏิญญา ความตกลง อนุสัญญา ข้อตกลง สนธิสัญญา และตราสารอื่นๆ ของอาเซียน
  2. อาเซียนและรัฐสมาชิกอาเซียนจะปฏิบัติตามหลักการดังต่อไปนี้
    (ก) การเคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน และอัตลักษณ์แห่งชาติของรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง
    (ข) ความผูกพันและความรับผิดชอบร่วมกันในการเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคงและความมั่งคั่งของภูมิภาค
    (ค) การไม่ใช้การรุกราน และการข่มขู่ว่าจะใช้หรือการใช้กำลังหรือการกระทำอื่นใดในลักษณะที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
    (ง) การอาศัยการระงับข้อพิพาทโดยสันติ
    (จ) การไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน
    (ฉ) การเคารพสิทธิของรัฐสมาชิกทุกรัฐในการธำรงประชาชาติของตนโดยปราศจากการแทรกแซง การบ่อนทำลาย และการบังคับ จากภายนอก
    (ช) การปรึกษาหารือที่เพิ่มพูนขึ้นในเรื่องที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผลประโยชน์ร่วมกันของอาเซียน
    (ซ) การยึดมั่นต่อหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล หลักการประชาธิปไตยและรัฐบาลตาม รัฐธรรมนูญ
    (ฌ) การเคารพเสรีภาพพื้นฐาน การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม
    (ญ) การยึดถือกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่รัฐสมาชิกอาเซียนยอมรับ
    (ฎ) การละเว้นจากการมีส่วนร่วมในนโยบายหรือกิจกรรมใดๆ รวมถึงการใช้ดินแดนของตน ซึ่งดำเนินการโดยรัฐสมาชิกอาเซียนหรือรัฐที่มิใช่สมาชิกอาเซียนหรือผู้กระทำที่ไม่ใช่รัฐใดๆ ซึ่งคุกคามอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน หรือเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐสมาชิกอาเซียน
    (ฏ) การเคารพในวัฒนธรรม ภาษาและศาสนาที่แตกต่างของประชาชนอาเซียน โดยเน้นคุณค่าร่วมกันของประชาชนอาเซียนในจิตวิญญาณของเอกภาพในความหลากหลาย
    (ฐ) ความเป็นศูนย์รวมของอาเซียนในความสัมพันธ์ภายนอกทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยคงไว้ซึ่งความมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน การมองไปภายนอก การไม่ปิดกั้นและการไม่เลือกปฏิบัติ และ
    (ฑ) การยึดมั่นในกฎการค้าพหุภาคีและระบอบของอาเซียนซึ่งมีกฎเป็นพื้นฐาน สำหรับการปฏิบัติตามข้อผูกพันทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไปสู่การขจัดการ กีดกันทั้งปวงต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ในระบบเศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนโดยตลาด
หมวดที่ 2
สภาพบุคคลตามกฎหมาย
ข้อ 3: สภาพบุคคลตามกฎหมายของอาเซียน
อาเซียน ในฐานะองค์การระหว่างประเทศในระดับรัฐบาล ได้รับสภาพบุคคลตามกฎหมายโดยกฎบัตรนี้
หมวดที่ 3
สมาชิกภาพ
ข้อ 4: รัฐสมาชิก
  1. รัฐสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ข้อ 5: สิทธิและพันธกรณี
  1. ให้รัฐสมาชิกมีสิทธิและพันธกรณีที่เท่าเทียมกันภายใต้กฎบัตรนี้
  2. ให้รัฐสมาชิกมีมาตรการที่จำเป็นทุกประการอันรวมถึงการออกกฎหมายภายในที่เหมาะสม เพื่ออนุวัติบทบัญญัติของกฎบัตรนี้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีทั้งหมดของรัฐสมาชิก
  3. ในกรณีการละเมิดกฎบัตรอย่างร้ายแรง หรือการไม่ปฏิบัติตาม ให้นำข้อ 20 มาใช้บังคับ
ข้อ 6: การรับสมาชิกใหม่
  1. กระบวนการในการสมัครและการรับสมาชิกของอาเซียนให้กำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
  2. การรับสมาชิกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
    (ก) ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเป็นที่ยอมรับว่าอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
    (ข) การยอมรับโดยรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง
    (ค) การตกลงที่จะผูกพันและเคารพกฎบัตรนี้ และ
    (ง) ความสามารถและความเต็มใจที่จะปฏิบัติพันธกรณีของสมาชิกภาพ
  3. การรับสมาชิกให้ตัดสินโดยฉันทามติโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ตามข้อเสนอแนะของคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
  4. รัฐผู้สมัครจะได้รับเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อได้ลงนามภาคยานุวัติสารกฎบัตรนี้
หมวดที่ 4
องค์กร
ข้อ 7: ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
  1. ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนประกอบด้วยประมุขของรัฐ หรือ หัวหน้ารัฐบาลของรัฐสมาชิก
  2. ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน:
    (ก) เป็นองค์กรสูงสุดในการกำหนดนโยบายของอาเซียน
    (ข) พิจารณาหารือ ให้แนวนโยบาย และตัดสินใจในประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุวัตถุประสงค์ของอาเซียน ในเรื่องสำคัญที่เป็นผลประโยชน์ของรัฐสมาชิก และในทุกประเด็นที่ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน คณะมนตรีประชาคมอาเซียน และองค์กรระดับรัฐมนตรีเฉพาะสาขา
    (ค) สั่งการให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในแต่ละคณะมนตรีที่เกี่ยวข้องให้จัดการประชุมเฉพาะกิจระหว่างรัฐมนตรี และหารือประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับอาเซียน ที่มีลักษณะคาบเกี่ยวระหว่างคณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ ทั้งนี้ ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนรับรองกฎการดำเนินการประชุมดังกล่าว
    (ง) ตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินที่กระทบต่ออาเซียนโดยดำเนินมาตรการที่เหมาะสม
    (จ) ตัดสินใจในเรื่องที่มีการนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนภายใต้หมวดที่ 7 และ 8
    (ฉ) อนุมัติการจัดตั้งและการยุบองค์กรระดับรัฐมนตรีเฉพาะสาขาและสถาบันอื่นๆ ของอาเซียน และ
    (ช) แต่งตั้งเลขาธิการอาเซียน ที่มีชั้นและสถานะเทียบเท่ารัฐมนตรีซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่โดยได้รับความไว้วางใจและตามความพอใจของประมุขของรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาล ตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
  3. ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
    (ก) จัดประชุมสองครั้งต่อปี และให้รัฐสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียนเป็นเจ้าภาพ และ
    (ข) เรียกประชุม เมื่อมีความจำเป็น ในฐานะการประชุมพิเศษหรือเฉพาะกิจ โดยมีประธานการประชุมเป็นรัฐสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียน โดยจัดในสถานที่ที่รัฐสมาชิกอาเซียนจะตกลงกัน
ข้อ 8: คณะมนตรีประสานงานอาเซียน
  1. ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และประชุมกันอย่างน้อยสองครั้งต่อปี
  2. ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียน
    (ก) เตรียมการประชุมของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
    (ข) ประสานการอนุวัติความตกลงและข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
    (ค) ประสานงานกับคณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ เพื่อเพิ่มความสอดคล้องกันของนโยบาย ประสิทธิภาพ และความร่วมมือระหว่างกัน
    (ง) ประสานงานรายงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียน ซึ่งเสนอที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
    (จ) พิจารณารายงานประจำปีของเลขาธิการอาเซียนเกี่ยวกับงานของอาเซียน
    (ฉ) พิจารณารายงานของเลขาธิการอาเซียนเกี่ยวกับหน้าที่และการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการอาเซียนและองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
    (ช) เห็นชอบการแต่งตั้งและการยุติหน้าที่ของรองเลขาธิการอาเซียน ตามข้อเสนอแนะของเลขาธิการอาเซียน และ
    (ซ) ปฏิบัติภารกิจอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรนี้ หรือหน้าที่อื่นที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
  3. ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนได้รับการสนับสนุนโดยเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 9: คณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ
  1. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ ประกอบด้วยคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
  2. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะมีองค์กรระดับรัฐมนตรีเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องในขอบข่ายการดำเนินงานของตน
  3. ให้รัฐสมาชิกแต่ละรัฐแต่งตั้งผู้แทนของรัฐตนสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะ
  4. เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของแต่ละเสาหลักของเสาหลักทั้งสามของประชาคมอาเซียน ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะ
    (ก) ทำให้แน่ใจว่ามีการอนุวัติข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
    (ข) ประสานการปฏิบัติงานของสาขาต่างๆ ที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานของตน และในประเด็นซึ่ง คาบเกี่ยวกับคณะมนตรีประชาคมอื่นๆ และ
    (ค) เสนอรายงานและข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในขอบข่าย การดำเนินงานของตน
  5. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะประชุมกันอย่างน้อยสองครั้งต่อปี และมีประธานการประชุมเป็นรัฐมนตรีที่เหมาะสมจากรัฐสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียน
  6. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 10: องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา
  1. ให้องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา
    (ก) ดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กรที่มีอยู่
    (ข) ปฏิบัติตามความตกลงและข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานของแต่ละองค์กร
    (ค) เสริมสร้างความร่วมมือในสาขาของแต่ละองค์กรให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียนและการสร้างประชาคมอาเซียน และ
    (ง) เสนอรายงานและข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรีประชาคมอาเซียนของแต่ละองค์กร
  2. องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาแต่ละองค์กรอาจมีเจ้าหน้าที่อาวุโสและองค์กรย่อยที่เกี่ยวข้องในขอบข่ายการดำเนินงานของตนตามที่ระบุในภาคผนวก 1 เพื่อดำเนินหน้าที่ของตน ภาคผนวกดังกล่าวอาจได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย โดยเลขาธิการอาเซียนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการของผู้แทนถาวรประจำอาเซียน โดยไม่ต้องใช้บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขภายใต้กฎบัตรนี้
ข้อ 11: เลขาธิการอาเซียนและสำนักงานเลขาธิการอาเซียน
  1. ให้เลขาธิการอาเซียนได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปีที่ไม่สามารถต่ออายุได้ และให้ได้รับการเลือกจากคนชาติของรัฐสมาชิกอาเซียน บนพื้นฐานของการหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษร โดยคำนึงถึงความซื่อสัตย์สุจริต ความสามารถ รวมถึงประสบการณ์ทางวิชาชีพ และความเท่าเทียมกันทางเพศ
  2. ให้เลขาธิการอาเซียน
    (ก) ปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งระดับสูงนี้ โดยเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎบัตรฉบับนี้และตราสาร พิธีสาร และแนวปฏิบัติที่มีอยู่ของอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
    (ข) อำนวยความสะดวกและสอดส่องดูแลความคืบหน้าในการอนุวัติความตกลงและข้อตัดสินใจของอาเซียน และเสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับงานของอาเซียนต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
    (ค) เข้าร่วมในการประชุมต่างๆ ของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน คณะมนตรีประชาคมอาเซียน คณะมนตรีประสานงานอาเซียน และองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา และการประชุมอาเซียนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
    (ง) เสนอข้อคิดเห็นของอาเซียนและเข้าร่วมการประชุมกับภาคีภายนอกตามแนวนโยบายที่ได้รับ ความเห็นชอบและตามอำนาจหน้าที่ ที่เลขาธิการอาเซียนได้รับมอบหมาย และ
    (จ) เสนอแนะการแต่งตั้งและการยุติหน้าที่ของรองเลขาธิการอาเซียนต่อคณะมนตรีประสานงานอาเซียน เพื่อให้ความเห็นชอบ
  3. ให้เลขาธิการอาเซียนเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของอาเซียนด้วย
  4. ให้เลขาธิการอาเซียนได้รับการสนับสนุนจากรองเลขาธิการอาเซียนสี่คน ซึ่งมีชั้นและสถานะของรัฐมนตรีช่วยว่าการ โดยให้รองเลขาธิการอาเซียนรับผิดชอบต่อเลขาธิการอาเซียนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
  5. รองเลขาธิการอาเซียนทั้งสี่คนต้องมีสัญชาติที่แตกต่างจากเลขาธิการอาเซียนและมาจากรัฐสมาชิกที่แตกต่างกันสี่รัฐสมาชิกอาเซียน
  6. ให้รองเลขาธิการอาเซียนสี่คน ประกอบด้วย
    (ก) รองเลขาธิการอาเซียนสองคน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปีที่ไม่สามารถต่ออายุได้ ซึ่งได้รับเลือกจากคนชาติของรัฐสมาชิกอาเซียน บนพื้นฐานของการหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษร โดยคำนึงถึงความซื่อสัตย์สุจริต คุณสมบัติ ความสามารถ ประสบการณ์ และความเท่าเทียมกันทางเพศ และ
    (ข) รองเลขาธิการอาเซียนสองคน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี และอาจต่ออายุได้อีกสามปี ให้ รองเลขาธิการอาเซียนสองคนนี้ได้รับการคัดเลือกโดยเปิดกว้างบนพื้นฐานของความรู้ความสามารถ
  7. ให้สำนักเลขาธิการอาเซียนประกอบด้วยเลขาธิการอาเซียนและพนักงานตามที่จำเป็น
  8. ให้เลขาธิการอาเซียนและพนักงาน
    (ก) ยึดมั่นในมาตรฐานสูงสุดของความซื่อสัตย์สุจริต ความมีประสิทธิภาพ และความสามารถ ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
    (ข) ไม่ขอหรือรับคำสั่งจากรัฐบาลหรือภาคีภายนอกอาเซียนใดๆ และ
    (ค) ละเว้นจากการดำเนินการใด ซึ่งอาจมีผลสะท้อนถึงตำแหน่งหน้าที่ของตนในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งรับผิดชอบต่ออาเซียนเท่านั้น
  9. รัฐสมาชิกอาเซียนแต่ละรัฐรับที่จะเคารพในลักษณะความเป็นอาเซียนโดยเฉพาะของความรับผิดชอบของเลขาธิการอาเซียนและพนักงาน และจะไม่แสวงหาที่จะมีอิทธิพลต่อเลขาธิการอาเซียนและพนักงาน ในการปฏิบัติตามความรับผิดชอบของบุคคลเหล่านั้น
ข้อ12: คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน
  1. ให้รัฐสมาชิกอาเซียนแต่ละรัฐแต่งตั้งผู้แทนถาวรประจำอาเซียนหนึ่งคน ในระดับเอกอัครราชทูตที่มีถิ่นพำนัก ณ กรุงจาการ์ตา
  2. ผู้แทนถาวรรวมกันตั้งขึ้นเป็นคณะกรรมการผู้แทนถาวร ซึ่งจะต้อง
    (ก) สนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียนและองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา
    (ข) ประสานงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ และองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาอื่นๆ
    (ค) ติดต่อประสานงานกับเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียนในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับงานของตน
    (ง) อำนวยความสะดวกความร่วมมือของอาเซียนกับหุ้นส่วนภายนอก และ
    (จ) ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่อาจกำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
ข้อ 13: สำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ
ให้รัฐสมาชิกแต่ละรัฐจัดตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ ซึ่งจะต้อง
(ก) ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกลางแห่งชาติ
(ข) เป็นหน่วยงานระดับชาติ ซึ่งเก็บรักษาข้อสนเทศในเรื่องทั้งปวงเกี่ยวกับอาเซียน
(ค) ประสานงานระดับชาติเกี่ยวกับการอนุวัติข้อตัดสินใจของอาเซียน
(ง) ประสานงานและสนับสนุนการเตรียมการระดับชาติของการประชุมอาเซียน
(จ) ส่งเสริมอัตลักษณ์และความสำนึกเกี่ยวกับอาเซียนในระดับชาติ และ
(ฉ) มีส่วนร่วมสร้างประชาคมอาเซียน
ข้อ 14: องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน
  1. โดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรอาเซียนเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ให้อาเซียนจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนขึ้น
  2. องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนจะต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งจะกำหนดโดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
ข้อ 15: มูลนิธิอาเซียน
  1. ให้มูลนิธิอาเซียนสนับสนุนเลขาธิการอาเซียนและดำเนินการร่วมกับองค์กรของอาเซียนที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน โดยการส่งเสริมความสำนึกที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของอาเซียน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และการดำเนินการร่วมกันที่ใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในอาเซียน
  2. ให้มูลนิธิอาเซียนรับผิดชอบต่อเลขาธิการอาเซียน ผู้ซึ่งจะต้องเสนอรายงานต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนผ่านคณะมนตรีประสานงานอาเซียน 
หมวดที่ 5
องคภาวะที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน
ข้อ 16: องคภาวะที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน
  1. อาเซียนอาจมีความสัมพันธ์กับองคภาวะซึ่งสนับสนุนกฎบัตรอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุประสงค์และหลักการของอาเซียน องคภาวะที่มีความสัมพันธ์เหล่านี้ระบุอยู่ในภาคผนวก 2
  2. ให้คณะกรรมการผู้แทนถาวรบัญญัติกฎว่าด้วยขั้นตอนดำเนินงานและหลักเกณฑ์สำหรับการมีความสัมพันธ์ตามข้อเสนอแนะของเลขาธิการอาเซียน
  3. ภาคผนวก 2 อาจได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยโดยเลขาธิการอาเซียนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการผู้แทนถาวร โดยไม่ต้องใช้บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขภายใต้กฎบัตรนี้
หมวด 6
ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์
ข้อ 17: ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ของอาเซียน
  1. ให้อาเซียนได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันในดินแดนของรัฐสมาชิกเท่าที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุความมุ่งประสงค์ของอาเซียน
  2. ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์จะถูกกำหนดไว้ในความตกลงต่างหากระหว่างอาเซียนและรัฐสมาชิกเจ้าภาพ
ข้อ 18: ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ของเลขาธิการอาเซียนและพนักงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน
  1. ให้เลขาธิการอาเซียนและพนักงานของสำนักเลขาธิการอาเซียนที่เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นทางการของอาเซียนหรือเป็นตัวแทนของอาเซียนในรัฐสมาชิก ได้รับความคุ้มกันและเอกสิทธิ์เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระของตน
  2. ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ภายใต้ข้อนี้จะถูกกำหนดไว้ในความตกลงต่างหากของอาเซียน
ข้อ 19 : ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ของผู้แทนถาวรและเจ้าหน้าที่ที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของอาเซียน
  1. ให้ผู้แทนถาวรของรัฐสมาชิกประจำอาเซียนและเจ้าหน้าที่ของรัฐสมาชิกที่เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นทางการของอาเซียนหรือเป็นตัวแทนของอาเซียนในรัฐสมาชิก ได้รับความคุ้มกันและเอกสิทธิ์เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
  2. ให้ความคุ้มกันและเอกสิทธิ์ของผู้แทนถาวรและเจ้าหน้าที่ที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของอาเซียนอยู่ภายใต้บังคับของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต ค.ศ. 1961 หรือเป็นไปตามกฎหมายภายในของรัฐสมาชิกอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
หมวด 7
การตัดสินใจ
ข้อ 20: การปรึกษาหารือและฉันทามติ
  1. โดยหลักการพื้นฐาน ให้การตัดสินใจของอาเซียนอยู่บนพื้นฐานของการปรึกษาหารือและฉันทามติ
  2. หากไม่สามารถหาฉันทามติได้ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนอาจตัดสินว่า การตัดสินใจเฉพาะเรื่องหนึ่งเรื่องใด จะสามารถทำได้อย่างไร
  3. ไม่มีความใดในวรรค 1 และ 2 ของข้อนี้กระทบถึงวิธีการตัดสินใจที่ระบุอยู่ในตราสารทางกฎหมายของอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
  4. ในกรณีที่มีการละเมิดกฎบัตรอย่างร้ายแรง หรือการไม่ปฏิบัติตาม ให้เสนอเรื่องดังกล่าวไปยังที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเพื่อตัดสิน
ข้อ 21: การอนุวัติและขั้นตอนการดำเนินงาน
  1. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะบัญญัติกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงานของตนเอง
  2. ในการอนุวัติข้อผูกพันด้านเศรษฐกิจ อาจนำสูตรการเข้าร่วมแบบยืดหยุ่นรวมถึงสูตรอาเซียนที่ไม่รวมสมาชิกบางรัฐมาใช้ หากมีฉันทามติ
หมวด 8
การระงับข้อพิพาท
ข้อ 22: หลักการทั่วไป
  1. รัฐสมาชิกต้องพยายามที่จะระงับข้อพิพาททั้งปวงอย่างสันติให้ทันท่วงที โดยผ่านการสนทนา การปรึกษาหารือ และการเจรจา
  2. ให้อาเซียนจัดตั้งและธำรงไว้ซึ่งกลไกการระงับข้อพิพาทในทุกสาขาความร่วมมือของอาเซียน
ข้อ 23: คนกลางที่มีตำแหน่งหน้าที่น่าเชื่อถือ การประนีประนอม และการไกล่เกลี่ย
  1. รัฐสมาชิกที่เป็นคู่กรณีในข้อพิพาทอาจจะตกลงกันเมื่อใดก็ได้ที่จะใช้คนกลางที่มีตำแหน่งหน้าที่น่าเชื่อถือ การประนีประนอม หรือการไกล่เกลี่ย เพื่อระงับข้อพิพาทภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน
  2. คู่กรณีในข้อพิพาทอาจร้องขอให้ประธานอาเซียน หรือเลขาธิการอาเซียน ทำหน้าที่โดยตำแหน่ง ในการเป็นคนกลางที่มีตำแหน่งหน้าที่น่าเชื่อถือ การประนีประนอม หรือการไกล่เกลี่ย
ข้อ 24: กลไกระงับข้อพิพาทตามตราสารเฉพาะ
  1. ให้ระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับตราสารเฉพาะของอาเซียนโดยกลไกและขั้นตอนการดำเนินการที่กำหนดไว้ในตราสารนั้นๆ
  2. ให้ระงับข้อพิพาทที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตีความหรือการใช้ตราสารอาเซียนใดๆ โดยสันติตามสนธิสัญญาทางไมตรีและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตามกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงานของสนธิสัญญาดังกล่าว
  3. ในกรณีที่มิกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นเป็นการเฉพาะ ให้ระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการตีความหรือการใช้ความตกลงทางเศรษฐกิจของอาเซียนตามพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน
ข้อ 25: การจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาท
ในกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นเป็นการเฉพาะ ให้มีการจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาทที่เหมาะสม รวมถึงอนุญาโตตุลาการ สำหรับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการตีความหรือการใช้กฎบัตรนี้ และตราสารอาเซียนอื่นๆ
ข้อ 26: ข้อพิพาทที่มิอาจระงับได้
ในกรณีที่ยังคงระงับข้อพิพาทมิได้ ภายหลังการใช้บทบัญญัติก่อนหน้านี้ในหมวดนี้แล้ว ให้เสนอข้อพิพาทนั้นไปยังที่ประชุมสุดยอดอาเซียน เพื่อตัดสิน
ข้อ 27: การปฏิบัติตาม
  1. เลขาธิการอาเซียนโดยการช่วยเหลือจากสำนักเลขาธิการอาเซียน หรือ องค์กรอาเซียนอื่นๆ ที่ได้รับแต่งตั้ง จะสอดส่องดูแลการปฏิบัติตามผลการวินิจฉัย ข้อเสนอแนะ หรือข้อตัดสินใจ ซึ่งเป็นผลจากกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน และส่งรายงานไปยังที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
  2. รัฐสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการไม่ปฏิบัติตามผลการวินิจฉัย ข้อเสนอแนะ หรือข้อตัดสินใจ ซึ่งเป็นผลจากกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน อาจส่งเรื่องไปยังที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเพื่อตัดสิน
ข้อ 28: บทบัญญัติของกฎบัตรสหประชาชาติ และกระบวนการระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
หากมิได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่นในกฎบัตรนี้ รัฐสมาชิกยังคงไว้ซึ่งสิทธิที่จะใช้วิธีการระงับข้อพิพาทอย่างสันติที่ระบุไว้ในข้อ 33(1) ของกฎบัตรสหประชาชาติ หรือตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ ที่รัฐสมาชิกคู่พิพาทเป็นภาคี
หมวด 9
งบประมาณและการเงิน
ข้อ 29: หลักการทั่วไป
  1. อาเซียนจะต้องกำหนดกฎและขั้นตอนการดำเนินงานทางการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
  2. อาเซียนจะต้องปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการทางการเงินที่ดีและระเบียบวินัยด้านงบประมาณ
  3. บัญชีการเงินจะต้องได้รับการตรวจสอบภายในและภายนอก
ข้อ 30: งบประมาณสำหรับการดำเนินงานและการเงินของสำนักเลขาธิการอาเซียน
  1. สำนักเลขาธิการอาเซียนจะต้องได้รับทรัพยากรทางการเงินที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. งบประมาณสำหรับการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการอาเซียนจะต้องมาจากรัฐสมาชิกอาเซียนโดยเงินบริจาคประจำปีรัฐละเท่าๆ กัน ซึ่งจะต้องส่งให้ทันกำหนด
  3.  เลขาธิการจะต้องเตรียมงบประมาณสำหรับการดำเนินงานประจำปีของสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะมนตรีประสานงานอาเซียน โดยคำแนะนำของคณะกรรมการผู้แทนถาวร
  4. สำนักเลขาธิการอาเซียนจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎและขั้นตอนการดำเนินงานทางการเงินที่กำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน โดยคำแนะนำของคณะกรรมการผู้แทนถาวร
หมวด 10
การบริหารและขั้นตอนการดำเนินงาน
ข้อ 31: ประธานอาเซียน
  1. ตำแหน่งประธานอาเซียนให้หมุนเวียนทุกปี บนพื้นฐานของลำดับอักษรของชื่อภาษาอังกฤษของรัฐสมาชิก
  2. ในหนึ่งปีปฏิทิน อาเซียนจะมีตำแหน่งประธานหนึ่งเดียว โดยรัฐสมาชิกที่รับตำแหน่งประธานนั้นจะทำหน้าที่เป็นประธานของ
    (ก) การประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
    (ข) คณะมนตรีประสานงานอาเซียน
    (ค) คณะมนตรีประชาคมอาเซียนทั้งสามคณะ
    (ง) องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้อง ตามที่ เหมาะสม และ
    (จ) คณะกรรมการผู้แทนถาวร
ข้อ 32: บทบาทของประธานอาเซียน
รัฐสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนจะต้อง
(ก) ส่งเสริมและเพิ่มพูนผลประโยชน์ และความเป็นอยู่ที่ดีของอาเซียน รวมถึง ความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียนอย่างแข็งขัน โดยการริเริ่มทางนโยบาย การประสานงาน ฉันทามติ และความร่วมมือ
(ข) ทำให้แน่ใจว่ามีความเป็นศูนย์รวมของอาเซียน
(ค) ทำให้แน่ใจว่ามีการตอบสนองต่อปัญหาเร่งด่วนหรือสถานการณ์วิกฤติที่มีผลกระทบต่ออาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที รวมถึงจัดให้มีคนกลางที่มีตำแหน่งน่าเชื่อถือและการจัดการอื่นเช่นว่า เพื่อแก้ไขข้อกังวลเหล่านี้โดยทันที
(ง) เป็นตัวแทนของอาเซียนในการเสริมสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์กับหุ้นส่วน ภายนอกภูมิภาคให้ใกล้ชิดขึ้น และ
(จ) ปฏิบัติภารกิจและหน้าที่อื่นตามที่อาจได้รับมอบหมาย
ข้อ 33: พิธีการและแนวปฏิบัติทางการทูต
อาเซียนและรัฐสมาชิกจะต้องยึดมั่นในพิธีการและแนวปฏิบัติทางการทูตที่มีอยู่ในการดำเนินกิจกรรมทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีประสานงานอาเซียน โดยคำแนะนำของคณะกรรมการผู้แทนถาวร
ข้อ 34: ภาษาทำงานของอาเซียน
ภาษาทำงานของอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ
หมวด 11
อัตลักษณ์และสัญลักษณ์
ข้อ 35: อัตลักษณ์ของอาเซียน
อาเซียนจะต้องส่งเสริมอัตลักษณ์ร่วมกันของตนและความรู้สึกเป็นเจ้าของในหมู่ประชาชนของตน เพื่อให้บรรลุชะตา เป้าหมาย และคุณค่าร่วมกันของอาเซียน
ข้อ 36: คำขวัญของอาเซียน
คำขวัญของอาเซียน คือ “วิสัยทัศน์เดียว อัตลักษณ์เดียว ประชาคมเดียว”
ข้อ 37: ธงอาเซียน
ธงอาเซียนจะเป็นตามที่แสดงไว้ในภาคผนวก 3
ข้อ 38: ดวงตราอาเซียน
ดวงตราอาเซียนจะเป็นตามที่แสดงไว้ในภาคผนวก 4
ข้อ 39: วันอาเซียน
ให้วันที่ 8 สิงหาคม เป็นวันอาเซียน
ข้อ 40: เพลงประจำอาเซียน
ให้อาเซียนมีเพลงประจำอาเซียน
หมวด 12
ความสัมพันธ์ภายนอก
ข้อ 41: การดำเนินความสัมพันธ์ภายนอก
  1. อาเซียนจะต้องพัฒนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตร และการเจรจา ความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน กับประเทศ องค์การและสถาบันระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาคและระหว่างประเทศ
  2. ความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียนจะยึดมั่นในวัตถุประสงค์และหลักการที่วางไว้ในกฎบัตรนี้
  3. อาเซียนจะเป็นพลังขับเคลื่อนขั้นแรกในการจัดการภูมิภาคที่อาเซียนได้ริเริ่มขึ้น และธำรงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์รวมของอาเซียนในความร่วมมือระดับภูมิภาคและการสร้างประชาคม
  4. ในการดำเนินความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียน รัฐสมาชิกจะประสานงานและพยายามพัฒนาท่าทีร่วมและดำเนินการร่วมกัน บนพื้นฐานของเอกภาพและความสามัคคี
  5. แนวนโยบายยุทธศาสตร์ของความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียนให้กำหนดโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียนโดยการเสนอแนะของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
  6. ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะทำให้แน่ใจว่าความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียนดำเนินไปอย่างเสมอต้นเสมอปลายและเป็นไปในทางที่สอดคล้องกัน
  7. อาเซียนสามารถทำความตกลงกับประเทศ หรือองค์การและสถาบันระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาคและระหว่างประเทศ กระบวนการทำความตกลงดังกล่าวให้กำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียนโดยการหารือกับคณะมนตรีประชาคมอาเซียน
ข้อ 42: ผู้ประสานงานกับคู่เจรจา
  1. ในฐานะผู้ประสานงานประเทศ ให้รัฐสมาชิกผลัดกันรับผิดชอบภาพรวมการประสานงานและส่งเสริมผลประโยชน์ของอาเซียนในความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาที่เกี่ยวข้อง องค์การและสถาบันระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
  2. ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนภายนอก นอกจากหน้าที่อื่นแล้ว ให้ผู้ประสานงานประเทศ
    (ก) เป็นผู้แทนอาเซียน และเพิ่มพูนความสัมพันธ์ บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกันและ ความเสมอภาค โดยสอดคล้องกับหลักการของอาเซียน
    (ข) เป็นประธานร่วมในการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างอาเซียนและหุ้นส่วนภายนอก และ
    (ค) รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สามและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 43: คณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สามและองค์การระหว่างประเทศ
  1. คณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สามอาจตั้งขึ้นในประเทศที่มิใช่สมาชิกอาเซียน ประกอบด้วยหัวหน้าคณะผู้แทนทางทูตของรัฐสมาชิกอาเซียน คณะกรรมการในลักษณะเดียวกันอาจจัดตั้งขึ้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์การระหว่างประเทศต่างๆ คณะกรรมการเช่นว่าจะต้องส่งเสริมผลประโยชน์และอัตลักษณ์ของอาเซียนในประเทศและองค์การระหว่างประเทศเจ้าภาพ
  2. ให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกำหนดกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงานของคณะกรรมการเช่นว่า
ข้อ 44: สถานภาพของภาคีภายนอก
  1. ในการดำเนินความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียน ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอาจมอบสถานภาพอย่างเป็นทางการให้แก่ภาคีภายนอกในฐานะประเทศคู่เจรจา ประเทศคู่เจรจาเฉพาะด้าน หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ผู้สังเกตการณ์พิเศษ ผู้ได้รับเชิญ หรือสถานภาพอื่นที่อาจจัดตั้งขึ้นต่อไป
  2. อาเซียนอาจเชิญภาคีภายนอกให้เข้าร่วมการประชุมหรือกิจกรรมความร่วมมือโดยมิต้องกำหนดให้สถานภาพอย่างเป็นทางการใดๆ ตามกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงาน
ข้อ 45: ความสัมพันธ์กับระบบสหประชาชาติ และองค์การและสถาบันระหว่างประเทศอื่น
  1. อาเซียนอาจขอสถานภาพที่เหมาะสมกับระบบสหประชาชาติ รวมทั้งกับองค์การและสถาบันระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างประเทศอื่น
  2. คณะมนตรีประสานงานอาเซียนจะเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของอาเซียนในองค์การและสถาบันระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และระหว่างประเทศอื่น
ข้อ 46: การส่งผู้แทนอย่างเป็นทางการของรัฐที่มิใช่รัฐสมาชิกอาเซียนประจำอาเซียน
รัฐที่มิใช่สมาชิกอาเซียนและองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาลที่เกี่ยวข้องอาจแต่งตั้งและส่งเอกอัครราชทูตเป็นผู้แทนอย่างเป็นทางการประจำอาเซียน ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการส่งผู้แทนอย่างเป็นทางการเช่นว่า
หมวด 13
บทบัญญัติทั่วไปและบทบัญญัติสุดท้าย
ข้อ 47: การลงนาม การให้สัตยาบัน การเก็บรักษา และการมีผลใช้บังคับ
  1. กฎบัตรนี้จะต้องได้รับการลงนามโดยรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งหมด
  2. กฎบัตรนี้จะอยู่ใต้บังคับของการให้สัตยาบันจากรัฐสมาชิกอาเซียนทุกรัฐตามกระบวนการภายในของ แต่ละรัฐ
  3. สัตยาบันสารจะต้องเก็บรักษาไว้กับเลขาธิการอาเซียน ซึ่งจะแจ้งให้รัฐสมาชิกทุกรัฐทราบถึงการส่งมอบสัตยาบันสารแต่ละฉบับโดยพลัน
  4. กฎบัตรนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่สามสิบหลังจากวันที่มีการส่งมอบสัตยาบันสารฉบับที่สิบให้แก่เลขาธิการอาเซียน
ข้อ 48: การแก้ไข
  1. รัฐสมาชิกใดๆ อาจเสนอข้อแก้ไขกฎบัตร
  2. ข้อเสนอแก้ไขกฎบัตรจะต้องยื่นโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียนโดยฉันทามติต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเพื่อตัดสิน
  3. ข้อแก้ไขกฎบัตรที่ได้ตกลงกันโดยฉันทามติโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียนจะต้องได้รับการสัตยาบันจากรัฐสมาชิกทุกรัฐ ตามข้อ 47
  4. ข้อแก้ไขใดๆ จะมีผลใช้บังคับในวันที่สามสิบหลังจากวันที่มีการส่งมอบสัตยาบันสารฉบับสุดท้ายต่อเลขาธิการอาเซียน
ข้อ 49: อำนาจและหน้าที่และกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงาน
นอกจากจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในกฎบัตรนี้ คณะมนตรีประสานงานอาเซียนจะเป็นผู้กำหนดอำนาจและหน้าที่และกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงานและต้องทำให้แน่ใจว่าอำนาจหน้าที่และกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงานสอดคล้องกัน
ข้อ 50 การทบทวน
กฎบัตรนี้อาจได้รับการทบทวนเมื่อครบห้าปีหลังจากที่มีผลใช้บังคับหรือตามที่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
ข้อ 51 การตีความกฎบัตร
  1. เมื่อรัฐสมาชิกใดๆ ร้องขอ ให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียนตีความกฎบัตรตามกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงานที่กำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
  2. ให้ระงับข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดจากการตีความกฎบัตรตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในหมวด 8
  3. หัวและชื่อที่ใช้ในแต่ละหมวดและในแต่ละข้อของกฎบัตรนี้มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการอ้างอิงเท่านั้น
ข้อ 52 ความต่อเนื่องทางกฎหมาย
  1. สนธิสัญญา อนุสัญญา ความตกลง ข้อตกลง ปฏิญญา พิธีสาร และตราสารอาเซียนอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วก่อนการมีผลใช้บังคับของกฎบัตรนี้ ให้มีผลใช้ได้ต่อไป
  2. ในกรณีที่เกิดความไม่สอดคล้องกันระหว่างสิทธิและพันธกรณีของรัฐสมาชิกอาเซียนภายใต้ตราสารดังกล่าวและกฎบัตรนี้ ให้ยึดถือกฎบัตรนี้เป็นสำคัญ
ข้อ 53 ต้นฉบับ
ให้ส่งมอบต้นฉบับภาษาอังกฤษของกฎบัตรนี้ที่ลงนามแล้วแก่เลขาธิการอาเซียน ซึ่งจะจัดทำสำเนาที่ได้รับ การรับรองให้แก่รัฐสมาชิกแต่ละรัฐ
ข้อ 54 การจดทะเบียนกฎบัตรอาเซียน
ให้เลขาธิการอาเซียนจดทะเบียนกฎบัตรอาเซียนกับสำนักเลขาธิการสหประชาชาติ ตามข้อ 102 วรรค 1 ของ กฎบัตรสหประชาชาติ
ข้อ 55 สินทรัพย์ของอาเซียน
ให้สินทรัพย์และกองทุนขององค์การอยู่ในนามของอาเซียน
ทำ ณ สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2007








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น




บทความใหม่กว่า บทความที่เก่ากว่า หน้าแรก